ผู้ป่วยโรคหัวใจ ออกกำลังกายแบบไหนถึงจะไม่เสี่ยง

การออกกำลังกายอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น โรคหัวใจ มีความจำเป็นอย่างมากเพราะจะช่วยให้หัวใจของเราแข็งแรงขึ้น เพียงแต่ต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจจึงไม่ต้องกังวลว่าจะออกกำลังกายตามปกติไม่ได้ เรารวบรวมเทคนิคและวิธีการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสมต่อสภาพร่างกายมาไว้ที่นี่แล้ว

เทคนิคการออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้น

หลายคนเข้าใจว่าเมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วคงจะหมดสิทธิ์ออกกำลังกายไปเลย แต่ความเป็นจริงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคุณสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเพียงแต่ต้องปรับวิธีการให้พอเหมาะตามคำแนะนำของแพทย์ เราจึงรวบรวมเทคนิคต่าง ๆ มาให้คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจลองเอาไปใช้กันดู

1.ควรเลือกช่วงเวลาและสถานที่ของการออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น ออกกำลังกายในตอนเช้าเพราะอากาศไม่ร้อนจัด หรือเย็นจัดจนเกินไปและควรเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท

2.ควรออกกำลังกายหลังทานอาหารมื้อหลักประมาณ 1-2 ชั่วโมงและไม่ควรออกกำลังกายตอนท้องว่าง

3.ก่อนออกกำลังกายควรทำการวอร์มอัพร่างกายอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันหรือลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ระหว่างการออกกำลัง

4.เตรียมน้ำดื่มไว้ข้างตัวให้พร้อม อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ควรจิบน้ำระหว่างออกกำลังกายเบา ๆ หรือดื่มน้ำประมาณ 1 แก้วก่อนเริ่มออกกำลังกาย

5.ควรเลือกวิธีออกกำลังกายแบบเบา ๆ จนถึงแบบหนักปานกลาง แต่หากไม่เคยออกกำลังมาก่อน ควรเริ่มจากวิธีเบา ๆ เช่น การเดินเร็ว ในช่วงแรกอาจจะเริ่มเดินแค่วันละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน จะทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป หลังจากนั้นเมื่อร่างกายเริ่มคุ้นเคยก็ค่อย ๆ ปรับเพิ่มเป็นวันละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนเป็นวิ่งเหยาะ ๆ หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเร็วขึ้น

หรือเลือกการว่ายน้ำเพราะน้ำเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนักอย่างดี ถึงแม้จะออกแรงมาก ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยน้อยกว่าออกกำลังกายบนบก แถมการว่ายน้ำยังเป็นการใช้กล้ามเนื้อแทบทุกส่วนในร่างกาย และน้ำยังช่วยลดแรงกระแทกเวลาที่เราออกแรงทำให้ไม่บาดเจ็บง่าย

6.ควรหมั่นสังเกตุอาการของร่างกายในขณะออกกำลังกาย หากมีอาการหรือสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ ดังนี้ รู้สึกเหนื่อยมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว มีอาการแน่นหน้าอก หน้ามืดหรือเวียนหัว คลื่นไส้ ควรหยุดพักและหากเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์ทันที แนะนำว่าไม่ควรไปออกกำลังกายคนเดียว ควรหาคนใกล้ชิดหรือเพื่อนไปด้วย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือกันได้ทันที

ประโยชน์ที่ได้จากการออกกำลังกายของผู้เป็นโรคหัวใจ

1.การออกกำลังกายจะช่วยฟื้นฟูหัวใจให้ทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานได้ดีจึงทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว กล้ามเนื้อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มากขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือด พูดง่าย ๆ ว่าทำให้การทำงานของหัวใจเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นนั่นเอง

2.ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง เพราะการออกกำลังกายจะทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดลดลง

3.ช่วยป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่น ๆ ลงได้ เช่น โรคอ้วน โรงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

4.ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ใช่เฉพาะแค่หัวใจ แต่กล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายยังได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระฉับกระเฉง ดูอ่อนกว่าวัย ผิวพรรณสดใสขึ้นเพราะการออกกำลังกายจะช่วยขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังเป็นการช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี

นอกจากเทคนิคของการออกกำลังกายสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจที่เรานำเสนอทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ การควบคุมอาหารการกิน ควรกินอาหารในสัดส่วนที่พอเหมาะ รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันที่จะส่งผลให้ไปกระตุ้นอาการของโรคได้ เช่น การดื่ม ชา กาแฟมากเกินไป การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ดังนั้นควรค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้ลงและหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากอาการเจ็บป่วยมากขึ้นด้วย